สาเหตุแห่งหนี้ มีได้หลายประการ เช่น การสมัครใจยอมตนเข้าผูกพันกัน มีข้อตกลงกันโดยการทำสัญญา หรือทำการใด ๆ ก็ตามที่กฎหมายให้มีข้อผูกพัน ภาษาในทางกฎหมายก็คือ การทำนิติกรรมนั่นเอง หรือในกรณีที่หนี้นั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากการสมัครใจผูกพันกัน แต่มีผลผูกพันกันในทางกฎหมาย เช่น ละเมิด กระทำโดยจงใจ ประมาทเลินเล่อ ทำให้คู่กรณีเกิดความเสียหายใด ๆ ต่อสิทธิตามกฎหมาย ก็ย่อมเกิดเป็นหนี้ได้เช่นกัน
|
ในปัจจุบันนี้ ถ้าจะกล่าวถึง หนี้ที่สามารถพบเห็นทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้จากบัตรเครดิต ไม่ว่าจะเกิดจากการใช้บัตรเครดิตโดยขาดการยับยั้งชั่งใจ การขาดวินัยเมื่อหมุนเงินไม่ทัน ปัญหาที่ตามมาก็คือ เป็นหนี้ค้างชำระ ซึ่งผู้มีปัญหาตรงนี้ทุกคนแทบจะเจอเหมือนกันคือ การทวงถาม
|
การทวงถาม ส่วนมากจะพบเจอประสบการณ์ที่ไม่ดีจากเจ้าหน้าที่ทวงถาม เช่น การเริ่มด้วยการเจรจา ทวงถาม ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม รวมไปถึงการข่มขู่สารพัด ตั้งแต่การเสียประวัติทางการเงินของผู้ถูกทวงถาม การเสียดอกเบี้ยผิดนัด ต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ต้องถูกยึดทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งต้องเข้าใจว่า กรณีฝ่ายเอกชนที่รับจ้างทวงหนี้โดยเฉพาะนี้ หากทวงได้ ก็จะได้เปอร์เซ็นต์จากเงินที่ทวงถามได้ เมื่อได้รับชำระมาก ก็จะได้ค่าตอบแทนมากตามไปด้วย
|
วิธีการรับมือกับกรณีดังกล่าว ต้องเข้าใจก่อนว่า การเป็นหนี้นั้น เป็นเรื่องทางแพ่ง ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างเอกชนกับเอกชน ที่มีทั้งสิทธิและหน้าที่ความรับผิดชอบ ไปดำเนินการผูกนิติสัมพันธ์กันเอง หากมีการฟ้องร้องบังคับกันในทางศาลก็ต้องฟ้องเป็นคดีแพ่ง เมื่อมีผลเป็นคำพิพากษาตัดสินคดีแล้ว ฝ่ายชนะคดีก็ต้องดำเนินการตามคำพิพากษา คือบังคับได้แต่ทรัพย์สินของลูกหนี้ หากลูกหนี้ไม่มีก็ต้องรอจนกว่าลูกหนี้จะหามาได้ (เวลาในการบังคับคดีคือ 10 ปี นับแต่ศาลตัดสิน) เรื่องทางแพ่งจึงเป็นการบังคับเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้เท่านั้น จะไปบังคับเอากับเนื้อตัวร่างกายของลูกหนี้ไม่ได้ ส่วนการบังคับคดี คือการยึดทรัพย์ของลูกหนี้มาขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาจนครบ หรืออาจจะมีการอายัดสิทธิต่าง ๆ ของลูกหนี้
|
กระบวนการต่าง ๆ นั้นย่อมเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย คือ เมื่อมีการฟ้องร้องก็ต้องผ่านขั้นตอน มีระยะเวลา ยืดออกไปอีกพอสมควร จึงยังพอมีเวลาที่จะหาทางแก้ไขปัญหาได้ หรืออาจมีเงินมาชำระหนี้ในภายหน้าได้ โดยมีข้อดีคือ ภาระดอกเบี้ยที่อยู่ในกรอบของศาลนี้มีความเป็นธรรมมากกว่า ระบบการจัดการของธนาคารเจ้าของบัตรหรือเจ้าหนี้อาจจะทำให้ลูกหนี้ต้องตกอยู่ในภาวะจำยอมอย่างอื่นเพิ่มขึ้นก็เป็นได้
|
ดังนั้น เมื่อมีการทวงถามจากเจ้าหนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องหลบหลีก ให้ตอบตามความเป็นจริง ไม่ควรใช้คำตอบแบบเลี่ยงไปเลี่ยงมา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาได้เพียงครั้งคราวเท่านั้น
|
วิธีการหนึ่งที่ธนาคารเจ้าของบัตรมักจะนำมาใช้เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจให้กับลูกหนี้ก็คือ การเปลี่ยนแปลงยอดหนี้ วิธีการผ่อนชำระหรือการปรับปรุงรายการหนี้ใหม่ นั่นคือ ให้ลูกหนี้ “รับสภาพหนี้” นั่นเอง แต่จะหลีกเลี่ยงการใช้คำนี้ โดยทางธนาคารจะเสนอแต่เงื่อนไขดี ๆ ส่วนผลที่ตามมาจะไม่กล่าวถึง โดยการปิดบังข้อมูล ทำให้ลูกหนี้เกิดความสนใจรับข้อเสนอ ซึ่งมีวิธีการเช่น
|
- ชื่อของรายการที่นำเสนอ อาจเป็นในชื่อของสินเชื่ออื่น ๆ - ข้อเสนอเกี่ยวกับการยืดหยุ่นในการผ่อนชำระให้ลูกหนี้สนใจ ซึ่งจะไม่เข้มงวดเหมือนบัตรเครดิต - เมื่อลูกหนี้รับข้อเสนอ ก็จะไม่ถูกทวงถามอีก - ระยะแรก อาจให้เว้นดอกเบี้ยในระยะเริ่มต้น หรืออัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าหนี้บัตรเครดิต - การทำสัญญาหรือข้อตกลงใหม่ของสินเชื่อนี้ สามารถทำได้ง่าย สะดวก เพียงลงนามในเอกสารพร้อมสำเนาหลักฐานประจำตัวส่งโทรสารไปยังฝ่ายสินเชื่อ การชำระเงินคือก็เพียงผ่านช่องทางธนาคารจุดชำระค่าบริการต่าง ๆ เหมือนบัตรเครดิต นอกจากนี้เราไม่สามารถทราบข้อมูลที่ชัดเจนได้มากนัก ไม่มีเอกสารให้พิจารณาให้รอบคอบ รวมถึงการคิดว่ารับข้อเสนอแบบใหม่แล้วจะได้ตัดความรำคาญจากการทวงถามในหนี้บัตรเครดิต ซึ่งข้อเสนอนี้ธนาคารย่อมได้ประโยชน์มากกว่าการให้ลูกหนี้คงสถานะเป็นลูกหนี้ในบัตรเครดิต
|
เงื่อนไขต่าง ๆ ในสินเชื่อใหม่กับบัตรเครดิตนั้นแตกต่างกันคือ 1. ดอกเบี้ย บัตรเครดิตนั้น กฎหมายให้เรียกได้ไม่เกิน 18% ต่อปี แต่สินเชื่อใหม่นี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องบัตรเครดิต จึงอาจเกิน 18% ต่อปีได้ ทั้งกฎหมายยังให้ธนาคารเรียกดอกเบี้ยได้เกินกว่าเอกชนให้กู้ทั่วไปซึ่งไม่เกิน 15% ต่อปี (หากผิดนัด อัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้นไปอีก) 2. ค่าทวงถาม ในบัตรเครดิต กฎหมายกำหนดให้ธนาคารมีสิทธิเรียกได้เดือนละไม่เกิน 250 บาทแต่กรณีสินเชื่อใหม่อาจมีลักษณะกำหนดได้ตามใจธนาคารเจ้าหนี้ หรืออาจเรียกมาในแบบเบี้ยปรับ ซึ่งมีจำนวนสูงมาก การขอลดเบี้ยปรับย่อมทำได้ยาก ต้องให้ศาลลดให้เท่านั้น
อายุความฟ้องร้อง บัตรเครดิตอายุความสั้นกว่าคือ 2 ปี นับแต่ธนาคารได้มีการใช้เงินทดรองแทนผู้ถือบัตร แต่ตามสินเชื่อใหม่ อาจเป็นกรณีมีอายุความทั่วไปคือ 10 ปี นับแต่ผิดนัดชำระหนี้
ในกรณีบัตรเครดิต ธนาคารอาจเจอปัญหาเอกสารหลักฐานไม่สมบูรณ์ เช่น ลงลายมือชื่อไม่ครบหนี้ขาดอายุความแล้ว หรือยอดหนี้ผิดพลาด ธนาคารจึงพยายามให้ลูกหนี้รับข้อเสนอเปลี่ยนสินเชื่อแบบใหม่ ดังนั้นต้องดูว่าเราอยู่ในฐานะได้เปรียบเจ้าหนี้หรือไม่ ก่อนจะรับข้อเสนอสินเชื่อใหม่นี้ต้องดูเงื่อนไขและข้อตกลงที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุด ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าเราเป็นคนก่อหนี้ จึงต้องรับผิดชอบ เพียงแต่ไม่ให้เจ้าหนี้เอาเปรียบมากเกินไปแค่นั้น |
ความเป็นไปได้ของการถูกฟ้อง ธนาคารอาจพิจารณาจากปัจจัยดังนี้ คือ 1.นิสัยใจคอของลูกหนี้ หากคิดว่าลูกหนี้จะไม่ยอมชำระง่าย ๆ ก็ตัดสินใจฟ้อง 2. ลูกหนี้จะมีทรัพย์สินพอให้ยึดหรือไม่เมื่อชนะคดี 3. ถ้ามีผู้ค้ำประกันเข้ามาเกี่ยวข้องก็อาจฟ้องบังคับกับผู้ค้ำประกันได้ 4. เอกสารหลักฐานต่าง ๆ มีความสมบูรณ์หรือไม่ 5. หากคดีจะขาดอายุความ ก็อาจมีการฟ้องร้องไว้ก่อน 6. นโยบายของธนาคารเอง
|
เมื่อโดนฟ้องร้อง - การฟ้องร้อง จะเริ่มต้นด้วยการที่เจ้าหนี้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาล จากนั้นจะมีการส่งหมายเรียกและ
สำเนาคำฟ้องไปยังภูมิลำเนาของลูกหนี้ ซึ่งตามคำฟ้องจะเรียกลูกหนี้ว่าจำเลย เพื่อที่ทางลูกหนี้จะได้ทำคำให้การแก้คดี ซึ่งต้องดูว่าได้รับหมายดังกล่าวมาโดยวิธีใด คือถ้าได้รับหมายโดยตรงถึงตัวลูกหนี้เองหรือจะเป็นบุคคลในบ้านได้รับไว้ก็ต้องยื่นคำให้การภายใน 15 วัน นับแต่วันรับหมาย หรือกรณีได้รับหมายโดยวิธีปิดหมายคือ มีการปิดหมายไว้ที่ประตูบ้านในกรณีที่ไม่มีผู้รับหมาย เช่นนี้ ต้องยื่นคำให้การภายใน 30 วัน นับแต่วันปิดหมาย มิฉะนั้นจะถือว่าทางลูกหนี้ขาดนัดยื่นคำให้การ มีผลเท่ากับไม่ต่อสู้คดี ซึ่งในทางแพ่ง การไม่ต่อสู้แก้คดีจะถือว่ายอมรับตามที่โจทก์ฟ้องมา ทำให้ศาลต้องพิจารณาหลักฐานจากโจทก์ฝ่ายเดียว ซึ่งก็มีแนวโน้มไปทางให้โจทก์ชนะคดี
|
ดังนั้น ลูกหนี้ควรจะทำคำให้การยื่นให้พ้นกำหนดเพื่อแก้คดีไปก่อน หากไม่รู้ขั้นตอน ควรปรึกษากับทนายความ ซึ่งทางทนายความอาจจะทำการต่อสู้คดีได้รอบคอบกว่า เช่นเรื่องของยอดหนี้ ดอกเบี้ย อายุความ หลังจากนั้นก็ควรไปศาลตามกำหนดนัด ซึ่งหากลูกหนี้มีทนายความที่ได้รับมอบหมายอยู่แล้ว ก็อาจจะไม่ต้องไปศาลเอง ซึ่งจะทำให้มีช่องทางเจรจากันได้อีกในชั้นศาล แม้จะมีข้อจำกัดและเงื่อนไขมากกว่าการเจรจาก่อนฟ้อง ก็จำเป็นต้องทำ ซึ่งศาลก็เป็นที่ให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน ปัจจุบันนี้ศาลได้มีนโยบายให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยกัน ก่อนถึงกระบวนการพิจารณาจริง ๆ เพื่อให้คู่กรณีได้มีโอกาสเสนอทางเลือกของตนให้อีกฝ่ายได้พิจารณา ก็ยิ่งเป็นผลดีกับลูกหนี้ได้เช่นกัน เพราะในชั้นนี้จะมีเจ้าหน้าที่ไกล่เกลี่ยที่ทางศาลจัดมาให้ ช่วยเจรจากับทางฝ่ายเจ้าหนี้อีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้ลูกหนี้มีโอกาสบอกถึงข้อจำกัด ความเดือดร้อนของตน เป็นข้อเสนอให้เจ้าหนี้ได้พิจารณาต่อไป หากไม่อาจหาข้อตกลงร่วมกันได้ ก็จะเป็นขั้นตอนการพิจารณาของศาลต่อไป
|
เมื่อศาลพิจารณาคดี ในชั้นนี้ เมื่อศาลได้มีการสืบพยานจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีคำพิพากษา หากศาลตัดสินให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีและไม่มีการอุทธรณ์ฎีกา ทางผู้ชนะคดีก็จะมีการดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษา โดยต้องเป็นการดำเนินการผ่านทางเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดำเนินการภายใต้กรอบอำนาจที่กฎหมายกำหนดไว้
|
วิธีการบังคับคดี วิธีการบังคับคดี คือ การยึดทรัพย์สิน, อายัดสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ของลูกนี้ (หนี้ที่ลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องเอากับบุคคลอื่น) เพื่อมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหน้าที่ตามคำพิพากษา ซึ่งการยึดทรัพย์ทำได้โดยเจ้าหน้าที่ตีตรา ทำบัญชีทรัพย์ จากนั้นนับทรัพย์นั้นออกขายทอดตลาด กรณีลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ให้ยึด เจ้าหนี้ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องรอให้ทางลูกหนี้มีทรัพย์สินก่อน ฉะนั้นการถูกยึดทรัพย์จึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด (เจ้าหนี้อาจมีช่องทางไปฟ้องเป็นคดีล้มละลายได้ แต่อาจไม่คุ้มค่า)
|
แม้จะมีคำพิพากษาให้เจ้าหนี้ชนะคดีแล้ว แต่การเจรจาประนีประนอมก็ยังทำได้อยู่ เพราะการบังคับคดีเป็นสิทธิของเจ้าหนี้(ซึ่งเจ้าหนี้มักจะเอามาใช้เป็นวิธีการท้ายสุด เพื่อให้ได้รับชำระหนี้ เพราะเป็นวิธีการที่ยุ่งยากและอาจขายทอดตลาดไม่ได้ราคา) ดังนั้นจึงควรขอเจรจาผ่อนผัน ยื่นข้อเสนอความเป็นไปได้กับทางเจ้าหนี้ เพราะเจ้าหนี้มีเวลาบังคับคดีตามกฎหมายถึง 10 ปี นับแต่มีการออกคำบังคับและมีผล หากข้อเสนอเป็นที่พอใจของเจ้าหนี้ เจ้าหนี้ย่อมจะรับไว้ เพราะการสืบหาทรัพย์เพื่อยึดทรัพย์ บังคับคดีย่อมทำได้ยากที่จะหามาพอชำระหนี้
|
แต่หากขั้นตอนมาถึงการยึดทรัพย์ขายทอดตลาดแล้ว กฎหมายก็ยังให้ลูกหนี้มีสิทธิรักษาผลประโยชน์ของตนไว้ได้ เช่น การคัดค้านการขายทอดตลาด ถ้าเห็นว่าได้ราคาที่ต่ำเกินไปหรือเข้าสู้ราคาหรือให้ญาติของลูกหนี้เข้าสู้ราคา เพื่อไม่ให้สูญเสียทรัพย์สินในราคาที่ถูกเกินไป หรือคัดค้านเจ้าพนักงานที่คิดฉ้อฉลในการขายทอดตลาดนั้นได้
เรียบเรียงโดย ทนายความอิศรา เพ็ชร์สวัสดิ์ |
|