ตามที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้พิจารณารับจดทะเบียนข้อบังคับของบริษัทจำกัดที่กำหนดให้กรรมการสามารถมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าประชุมแทนและให้นับเป็นองค์ประชุม รวมทั้งออกเสียงลงคะแนนในการประชุมคณะกรรมการบริษัท และข้อบังคับของบริษัทจำกัดที่กำหนดให้มติคณะกรรมการสามารถทำเป็นมติเวียนโดยไม่ต้องจัดประชุมคณะกรรมการบริษัทนั้น
ต่อมาปรากฏว่ามีคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ ๓๓๖๒/๒๕๓๒ สรุปได้ว่า การเป็นกรรมการของบริษัทจำกัดต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตัวและต้องกระทำกิจการด้วยตนเองจะมอบหมายให้บุคคลอื่นกระทำแทนตนในฐานะกรรมการไม่ได้ รวมทั้งมีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (เรื่องเสร็จที่ ๗๕/๒๕๓๖) ซึ่งวินิจฉัยในกรณีข้อบังคับของบริษัทมหาชนจำกัดไว้ในทำนองเดียวกัน นอกจากนั้นคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวได้วินิจฉัยว่าข้อบังคับที่กำหนดให้มติคณะกรรมการสามารถทำเป็นมติเวียนโดยไม่ต้องจัดประชุมคณะกรรมการนั้นไม่อาจรับจดทะเบียนได้เนื่องจากส่งผลให้เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย
จึงปรากฏข้อหารือจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่าข้อบังคับของบริษัทจำกัดที่กำหนดให้กรรมการสามารถมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าประชุมแทนและให้นับเป็นองค์ประชุม รวมทั้งออกเสียงลงคะแนนในการประชุมคณะกรรมการบริษัท และข้อบังคับของบริษัทจำกัดที่กำหนดให้มติคณะกรรมการสามารถทำเป็นมติเวียนโดยไม่ต้องจัดประชุมคณะกรรมการบริษัทนั้นจะยังคงสามารถจดทะเบียนได้อยู่ต่อไปหรือไม่ และบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนข้อบังคับในลักษณะดังกล่าวไว้แล้วจะสามารถปฏิบัติตามข้อบังคับนั้นได้ต่อไปหรือไม่
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงได้นำประเด็นปัญหาดังกล่าวหารือคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งคณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า
๑.บริษัทจำกัดไม่สามารถกำหนดข้อบังคับบริษัทให้กรรมการสามารถมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าประชุมแทนและให้นับเป็นองค์ประชุมรวมทั้งออกเสียงลงคะแนนในการประชุมคณะกรรมการบริษัท
เนื่องจาก แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎหมายเอกชนจะมีหลักการพื้นฐานในการยึดถือการแสดงเจตนาของคู่สัญญาเป็นสำคัญก็ตามแต่การแสดงเจตนานั้นก็จำต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายด้วย ดังนั้น แม้ตามมาตรา ๑๑๕๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะบัญญัติให้บริษัทจำกัดสามารถกำหนดข้อบังคับแตกต่างจากบทบัญญัติของมาตรา ๑๑๕๙ ถึงมาตรา ๑๑๖๔ ได้ก็ตาม แต่บริษัทก็จะต้องกำหนดข้อบังคับขึ้นภายใต้กรอบของกฎหมายกล่าวคือ บริษัทไม่สามารถออกข้อบังคับที่มีวัตถุประสงค์ขัดกับกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนได้ ทั้งนี้การกำหนดข้อบังคับในลักษณะดังกล่าวจะส่งผลให้มีการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดในเรื่องอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการ สำหรับเรื่องคุณสมบัติของกรรมการก็เช่นกันเมื่อพิจารณาบทกฎหมายที่บัญญัติไว้เกี่ยวกับความรับผิดของกรรมการในทางแพ่งและอาญา รวมทั้งองค์ประชุมของกรรมการแล้วถือได้ว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัว ดังนั้นบริษัทจึงไม่สามารถกำหนดข้อบังคับในลักษณะดังกล่าวข้างต้นได้
๒. บริษัทจำกัดไม่สามารถกำหนดข้อบังคับบริษัทให้มติคณะกรรมการสามารถทำเป็นมติเวียนโดยไม่ต้องจัดประชุมคณะกรรมการบริษัท
เนื่องจาก ตามบทบัญญัติในมาตรา ๑๑๖๐ มาตรา ๑๑๖๑ มาตรา ๑๑๖๒ และมาตรา ๑๑๖๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กำหนดวิธีการประชุมกรรมการไว้แล้ว เพื่อให้กรรมการแต่ละคนได้มาประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัทก่อนการลงมติในเรื่องใดๆ แม้ว่าตามมาตรา ๑๑๕๘ จะกำหนดให้บริษัทสามารถกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับอำนาจกรรมการเป็นอย่างอื่นได้แต่ก็มิได้หมายความว่าจะสามารถกำหนดข้อบังคับให้ไม่ต้องมีการประชุมกรรมการได้ เนื่องจากการกำหนดข้อบังคับในลักษณะดังกล่าวเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายตามมาตรา ๑๑๖๐ มาตรา ๑๑๖๑ มาตรา ๑๑๖๒ และมาตรา ๑๑๖๓
๓. ในกรณีที่บริษัทจำกัดได้จดทะเบียนข้อบังคับในลักษณะดังกล่าวข้างต้นตามข้อ ๑ และข้อ ๒ ไว้แล้ว แม้จะมิได้มีการเพิกถอนการจดทะเบียนข้อบังคับดังกล่าว บริษัทก็ไม่สามารถถือปฏิบัติตามข้อบังคับนั้นได้อีกต่อไป
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงขอประกาศให้ทราบทั่วกัน และขอความร่วมมือให้บริษัทจำกัดซึ่งได้จดทะเบียนข้อบังคับที่มีลักษณะตามข้อ ๑ และข้อ ๒ ไว้แล้วดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขข้อบังคับของบริษัทต่อไปด้วย
ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑
นางผานิต หล่อตระกูล
รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทน
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ข้อมูลจาก http://www.dbd.go.th